การสัมภาษณ์รอบที่ 2 หรือที่ 3 คุณมักเจอกับผู้สัมภาษณ์ 1 ใน 2 ประเภทนี้คือ หัวหน้างานโดยตรง หรือผู้บริหารระดับสูงของสายงานในอนาคตของคุณ หลังจากคุณได้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจากฝ่ายบุคคลมาแล้ว
ฉันการันตีได้ว่าความกลัว ตื่นเต้น ประหม่า ของคุณลดลงกว่าการสัมภาษณ์ในรอบแรกอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มีอีกหลายคนที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม ผู้ที่เข้าข่ายข้อหลังนี้อยากให้คุณตั้งใจอ่านต่อจากนี้ไป
จงมั่นใจในตัวเองให้มาก คุณคือคนที่น่าสนใจกว่าผู้สมัครหลายๆคน ที่ถูกเรียกเข้ามาสัมภาษณ์ในรอบแรก บางตำแหน่งเรียกมามากกว่าสิบคน เมื่อคุณเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่บริษัทเลือกให้ผ่านเข้ามาในรอบที่ 2 แสดงว่าความน่าสนใจในตัวคุณมีมากและโอกาสที่จะได้งานก็มากขึ้นด้วย
พยายามนึกถึงบรรยากาศในห้องสัมภาษณ์รนอบแรกว่าคุณเป็นอย่างไร ทั้งบุคลิกภาพ การวางตัว การตอบคำถาม การแสดงความคิดเห็น และอื่นๆ ที่พอจะจำและนึกภาพออก เก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูลใช้ในการสัมภาษณ์รอบต่อๆไป เพราะนั่นคือความเป็นตัวคุณที่บริษัทพอใจ หรือเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับตำแหน่งนั้นๆ แต่ทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนความเป็นตัวของตัวเองไม่เสแสร้งแกล้งทำอย่างที่ฉันเคยบอก
ถ้าในการสัมภาษณ์รอบแรก ความกล้าแสดงความคิดเห็นของคุณโดดเด่นกว่าเรื่องอื่นๆ ขอให้ยืดมันเอาไว้ในการสัมภาษณ์รอบที่ 2 ถ้าความโอนอ่อนผ่อนตามของคุณโดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ก็ขอให้ยึดเอาไว้เช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในตำแหน่งนั้น หรืออาจไปกันได้กับวัฒนธรรมขององค์กร ถ้าทุกสิ่งที่แสดงออกมาในห้องสัมภาษณ์เป็นตัวคุณอย่างแท้จริง รับรองว่างานที่คุณรอคอยและมีความสุขเมื่ออยู่กับมันกำลังจะมาให้คุณได้สัมผัสในอีกไม่นาน
นอกจากนึกถึงตัวคุณแล้ว ข้อมูลทุกๆ อย่างของตำแหน่งที่คุณได้รับจากผู้สัมภาษณ์รอบแรกก็เป็นสิ่งสำคัญทีควรใส่ใจ ถ้าคุณเข้าใจลักษณะงานระบบการทำงานขององค์กร หรือแม้แต่วัฒนธรรมขององค์กรอย่างถ่องแท้แล้ว การสัมภาษณ์รอบที่ 2 3 หรือ 4 ของคุณก็ไม่ใช่ปัญหาให้ลองนึก ถ้าต้องรับคนเข้ามาทำงาน 1 คน คุณจะเลือกใครระหว่างคนที่เข้าใจลักษณะงานและระบบงานได้ดี กับอีกคนที่ยังสะเปะสะปะในข้อมูลทั้งที่เคยผ่านการสัมภาษณ์รอบแรกมาก่อนแล้ว ถ้ารู้คำตอบ…คุณจะเลือกเป็นแบบแรกหรือแบบที่ 2 ตัดสินใจไม่ยากเลยใช่ไหม?
อยากให้คุณรู้ ความคาดหวังของผู้สัมภาษณ์งานรอบที่ 2 ต่อผู้สมัครนั้นมีสูงกว่ารอบแรกมากนัก อย่างน้อยขอให้คุณมีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นสักหน่อย ไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณหรือข้อมูลตำแหน่งงาน พยายามทำการบ้านให้มากขึ้น อาจค้นหาข้อมูลเกี่ยวกั
บริษัทเพิ่มเติม ให้อัพเดท สามารถนำมาเป็นประเด็นพูดคุยในห้องสัมภาษณ์ได้ จะแสดงให้เห็นว่าคุณให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับบริษัท หรือว่างๆ ลองตั้งคำถามจากข้อมูลที่ไดรับการสัมภาษณ์รอบแรก แล้วลองตอบคำถามนั้นเองดู จะทำให้คุณมีความมั่นใจในการตอบมากขึ้น ที่สำคัญมันเป็นการเก็งข้อสอบที่อาจทำให้คุณยิ้มได้ เมื่อเดินออกจากห้องสัมภาษณ์งาน
ถ้าในการสัมภาษณ์รอบแรก คุณรู้ว่าตำแหน่งนั้นต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆ มากมายเพื่อให้งานประสบความสำเร็จก่อนสัมภาษณ์รอที่ 2 ลองตั้งคำถามดูว่า “หากมีข้อขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องประสานงานด้วยกันบ่อยๆ คุณมีวิธีการแก้ปัญหานั้นอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับงานที่ทำอยู่” ถ้าในการสัมภาษณ์รอบแรก คุณรู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรให้ความเคารพผู้อาวุโสกว่า ก่อนสัมภาษณ์รอที่ 2 ลองตั้งคำถามดูว่า “คุณคิดว่าระบบอาวุโสในองค์กรดีหรือไม่ อย่างไร และจะส่งผลต่อการทำงานของคุณอย่างไรบ้าง?” เป็นต้น
ยิ่งคิดคำถามได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณเก็งข้อสอบถูกก็มีมากขึ้นเท่านั้น เก็บคำถามและคำตอบที่คุณกลั่นกรองแล้วใส่กระปุกให้ดี เชื่อเถอะว่าในห้องสัมภาษณ์งานคุณได้แวะมันออกมาใช้แน่นอน
จงจำไว้เสมอ การสัมภาษณ์รอบหลังๆ คุณมีข้อมูลมากกว่ารอบแรกเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับงานและองค์กรที่ถูกคัดให้เหลือแต่ที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น ไม่ใช่การเหวี่ยงแหอย่างไม่รู้ทิศทางเหมือนในรอบแรก จงใช้ข้อมูลที่ได้รับมานั้นให้เกิดประโยชน์สำหรับตัวคุณมากที่สุด ถึงเวลานี้การพยายามแสวงหาข้อมูลมากมายจากแหล่งอื่นๆ อาจไม่จำเป็นสำหรับคุณเลยก็ได้
มั่นใจในคุณสมบัติของตัวเองและใช้ข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์รอบแรกให้เกิดประโยชน์สูงสุด…คือ 2 กระบวนท่าที่คุณพึงใจ เพื่อชัยชนะในสนามประลองรอบที่ 2 ที่ 3 หรืออาจมากกว่านั้น