"ใช่" และ "ชอบ" เป็นคำตอบที่ดี
"ตำแหน่งที่ใช่" คือตำแหน่งที่คุณมีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งนั้น รู้ได้จากคุณสมบัติที่บริษัทกำหนดไว้ในประกาศรับสมัครงานตำแหน่งแบบนี้ส่วนใหญ่ตรงกับสาขาที่คุณเรียนมา

คุณจบนิเทศศาสตร์ ก็จะเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ นักข่าว นักจัดรายการวิทยุ นักวางแผนโฆษณา จบนิติศาสตร์ก็หนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่กฎหมาย นิติกร ทนายความเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน จบบัญชีก็เป็นเจ้าหน้าที่บัญชี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน ซึ่งคุณรู้ว่าจะสมัคร "ตำแหน่งที่ใช่" ได้ตั้งแต่คุณตัดสินใจเข้าเรียนระดับปริญญาตรีแล้ว

ถ้าคุณชอบหรือติดใจเนื้อหาที่เรียนมาทั้ง 4 ปีในมหาวิทยาลัย คิดว่านี่แหล่ะคือสิงที่ต้องการ อยากอยู่ร่วมกับมันได้ตลอดชีวิต คุณตอบตัวเองได้แล้วล่ะว่าจะสมัครตำแหน่งอะไร....แต่มีน้อยคนนักที่คิดได้อย่างนี้ ในขณะที่เรียนยังถามตัวเองแทบทุกวัน ....เรียนอะไรกัน จะเอาไปใช้หรือ ไม่เห็นชอบเลยนี่เราคิดผิดหรือเปล่าที่เลือกคณะนี้...ถ้าคำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวคุณมาตลอดละก็ "ตำแหน่งที่ใช่" อาจจะไม่ใช่สำหรับคุณ

สำหรับสาขาที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ เช่น บัญชี วิศวกร แพทย์ เภสัชกร กฎหมาย คุณคงดิ้นได้ไม่มากนักในเมื่ออุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้งนาน จนตอนนี้ลงบัญชี ปิดบัญชีได้อย่างถูกต้อง คุมการก่อสร้างบ้านทั้งหลังได้สำเร็จ วินิจฉัยโรคและจ่ายยาไม่พลาดเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่ดีให้กับผู้เดือดร้อนได้ คุณคงต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตนั่นแหล่ะ แต่ถ้าตื่นมาวันหนึ่งพบว่า มันไม่ใช่มันไม่เหมาะอีกแล้ว จะผันตัวเองไปเป็นนักร้อง นักแสดง ก็ไม่ว่ากัน

คุณมีโอกาสได้รับเลือกเข้าสัมภาษณ์งานสูงมาก ถ้าสมัครใน "ตำแหน่งที่ใช่" บริษัทจะใช้คุณสมบัติของตำแหน่งที่ประกาศไว้เป็นเกณฑ์สำคัญ ในการพิจารณาคัดเลือกใบสมัครเป็นร้อยเป็นพันใบที่ถูกส่งเข้ามาทุกช่องทาง ถ้ามั่นใจว่ามีคุณสมบัติครบทุกข้อตามที่ระบุไว้ เป็นไปได้สูงที่ใบสมัครของคุณจะถูกเลือกออกมา ใครที่มีไม่ครบอย่างเพิ่งถอดใจ มีผู้สมัครไม่มากนักหรอกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ขนาดนั้น ขาดไปบ้างบางข้อก็ไม่ใช่ว่าทำงานในตำแหน่งนั้นไม่ได้ บริษัทไม่ยอมเสียโอกาสที่จะเรียกคุณเข้าไปคุยกันก่อนแน่นอน ถ้าคุณมีคุณสมบัติบางอย่างที่น่าสนใจ

เมื่อกฎเกณฑ์หลายๆ อย่างในโลกมักได้รับการยกเว้นหรือนุโลม กฎเกณฑ์ในการสมัครงานก็คงหนีไม่พ้น คุณสมบัติที่กำหนดไว้แต่แรกเป็นเพียงกรอบที่ช่วยให้คัดเลือกคนได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ในทางปฏิบัติ ความรู้สึกและเหตุผลบางอย่างเข้ามามีอิทธิพลในการตัดสินใจ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนด้วยแล้ว ไม่สามารถหาอะไรมาวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมหรอกนอกเสียจาก...ลองเรียกมาคุยกันก่อนดีกว่า

นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่คุณจะได้รับเลือกเข้าสัมภาษณ์งานในกรณีที่ชอบอยากทำงานด้านที่เรียนมาหรืออาจกลับตัวไม่ทันแล้วเท่านั้น แต่สำหรับคุณที่ไม่ชอบไม่สนใจเอาเสียเลยกับสิ่งที่เพียรร่ำเรียนมากกว่า 4 ปี ถ้าอยู่กับมันทั้งชีวิตคงจะบ้าตายไม่ไหวหรอก... "ตำแหน่งที่ใช่" คงไม่ใช่คำตอบถูกต้องสำหรับคุณ

"ตำแหน่งที่ชอบ" อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณกำลังมองหาอยู่ แต่นั่นต้องต้องอยู่บนโอกาสของความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รับเลือกเข้าสัมภาษณ์งานด้วยเช่นกัน คุณต้องรับความจริงข้อนี้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่ปัญหาหรอกในเมื่อคุณถามตัวเองตั้งหลายต่อหลายครั้งก่อนตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าคุณไม่สามารถทำใจให้ชอบหรืออยู่กับ "ตำแหน่งที่ใช่" ได้ตลอดชีวิต อยากลองเปลี่ยน ค้นหาตัวเองในอีกมุม ซึ่งน่าจะทำให้ชีวิตของคุณมีความสุขมากกว่า
สำหรับคนที่เลือกเดินทางนี้ ฉันอยากบอกว่าคุณมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกับคุณเยอะ ดีไม่ดีอาจมากกว่าอีกทางก็ได้ เมื่อการเรียนในมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง แต่กลับมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเป็นตัวแปรแทรก ไม่ว่า กระแสสังคม เศรษฐกิจ เพื่อน หรือแม้แต่ความสามารถที่วัดจากคะแนนสอบเอนทรานซ์เพียง 2 ครั้ง ความไม่แน่ใจ ลังเล สับสนในความชอบ ความถนัดของคนหนึ่งที่รู้สึกอย่างนี้

มีหลายคนที่ค้นพบตัวเองได้จาก "ตำแหน่งที่ชอบ" เขาโชคดีมากที่บริษัทให้โอกาสในการพิสูจน์ความสามารถด้วยการเลือกใบสมัครออกมา ทั้งๆ ที่เขามีคุณสมบัติไม่ครบทุกข้อตามที่ระบุไว้ หรือบางทีอาจไม่มีเลยสักข้อด้วยซ้ำไป แต่ฉันเชื่อแน่ เขาต้องมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ที่ทำให้กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ล้มครืนลงมาได้
ถ้าคุณมั่นใจว่ามีสิ่งมหัศจรรย์บางอย่างอยู่ในตัว และเชื่ออีกว่ามันทำให้คุณไม่ต่างจากคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คุณคิดไม่ผิดที่เลือกทำในสิ่งที่คุณรักคุณชอบ แม้รู้อยู่ตลอดเวลาว่าโอกาสนั้นไม่เดินมาชนคุณบ่อยนัก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

บางคนเรียนจบด้านครุศาสตร์ (ประถมวัย) แต่ความใฝ่ฝันของเธอกลับเป็นงานด้านประชาสัมพันธ์ เธอไม่รีรอที่จะเดินตามฝัน มั่นใจว่านอกจากความฝันที่มีอยู่อย่างเตาเปี่ยมแล้ว เธอยังมีความจริงบางอย่างไปพิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่าเธอสมควรที่จะเป็นเจ้าของความฝันนั้น ความจริงที่ว่าก็คือ มนุษยสัมพันธ์ที่ดี รอยยิ้มที่สร้างความประทับใจแต่แรกเห็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และประสบการณ์การฝึกงานด้านประชาสัมพันธ์กว่า 3 เดือน จากสถาบันสอนภาษาอังกฤษแห่งหนึ่ง

บางคนฝืนเรียนบัญชีมา 4 ปี เพื่อมาทำงานวางแผนการตลาด กับเหตุผล...มีบางส่วนของบัญชีเกื้อหนุนการตลาดอยู่เชื่อมั่นว่าบางส่วนนั้นจะทำให้งานการตลาดดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วมันก็เป็นไปได้จริงๆ ความละเอียดรอบคอบทำให้รายงานสำรวจตลาดคู่แข่งของเขามีข้อมูลสนับสนุนมากพอ ตัวเลขที่วัดได้อย่างชัดเจน ข้อมูลการวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งทั้งของบริษัทและคู่แข่งจากหลากหลายมุมมอง ที่ยังไม่รวมถึงความสมบูรณ์ ความถูกต้องในทุกรายละเอียดของรายงาน ที่ทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในปัจจุบันอีกด้วย

เป็นสองตัวอย่างที่ยกมาให้เห็น ไม่ผิดที่คุณไม่ชอบสิ่งที่เรียนมา ไม่สายไปที่เพิ่งมารู้ว่าชอบอะไรจริงๆ คุณสามารถเปลี่ยนแปลงทางเดินชีวิตได้ เพียงมั่นใจว่าน้ำมันในถังมีพอให้คุณขับต่อไปได้อีก 20 กิโลจากจุดหมายเดิมไปยังจุดหมายใหม่ที่คุณตั้งไว้ ถ้ามีไม่พอ อย่าเพิ่งถอดใจ ลองขับต่อปีอีกนิด คุณอาจจะพบปั๊มอยู่ข้างๆทางให้ได้เติมความรู้ และประสบการณ์ที่จะหล่อหลอมให้คุณแกร่งขึ้น สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขในจุดหมายใหม่ซึ่งคุณเป็นคนเลือก....

ขึ้นอยู่ที่คุณแล้วล่ะ จะเลือกสมัครงานใน "ตำแหน่งที่ใช่" หรือ "ตำแหน่งที่ชอบ" เลือกทางที่มีโอกาสมากหรือน้อย เลือกทำใจรับสิ่งที่เป็นหรือลองเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่รัก ใช้สมองและหัวใจตรองดู คุณพอใจยืนอยู่ตรงไหนมากกว่ากันระหว่างที่ที่คุณยืนอยู่ตอนนี้ กับอีกที่ที่หมายตาเอาไว้

แต่ถ้า "ตำแหน่งที่ใช่" และ "ตำแหน่งที่ชอบ" ของคุณคืออย่างเดียวกันละก็ จงภูมิใจเถิดที่คุณถูกกำหนดมาให้เป็น "คนที่โชคดีที่สุด"



ขอขอบคุณ...คุณปนัฎดา สังข์แก้ว
จากหนังสือ "กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น."
เจ้าของผลงานล่าสุด..."คู่มือคนหางาน 108-1009 ตอบปัญหาคาใจ"

BuddyJob.com © Copyright 2004-2024 All right reserved. | ข้อตกลงการใช้บริการ |