ลุยฟาร์มหมูอดีตสัตวบาลหนุ่ม พิสูจน์ความจริง 'เกษตรพันธสัญญา' ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ "คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง" ว่าดีจริงหรือไม่ เพราะบางคนก็ประสบกับความสำเร็จอย่างงดงาม แต่มีบางคนประสบความล้มเหลว ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยไม่กล้าตัดสินใจ อาทิตย์นี้ท่องโลกเกษตร ตะลุยถึงฟาร์ม ศศิธรฟาร์ม ที่ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรที่ทำการเกษตรระบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ของอดีตสัตวบาลหนุ่มวัย 30 ปี "นพฉัตร ปัญญาวชิโรภาส" ที่หันมาเอาด้วยการเลี้ยงสุกรขุน จนกลายเป็นคนหนุ่มที่กำเงินล้านในวันนี้ เดิมที นพฉัตร เป็นพนักงานของซีพีเอฟ ในตำแหน่งสัตวบาลทำหน้าที่ในการดูแลเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรแก่เกษตรกรรายย่อย ในระหว่างที่เขาไปดูแลสุขภาพหมูของเกษตรกรจึงทราบว่า การเลี้ยงระบบคอนแทร็กฟาร์ม แทบจะไม่มีความเสี่ยง เห็นว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง เขาจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพสัตวบาล ใช้พื้นที่บ้านเกิดภรรยา 10 ไร่ สร้างโรงเรือนระบบปิดขนาด 13x75 เมตร ความจุหมูได้ 700 ตัวต่อจำนวน 3 โรงเรือน ปัจจุบันเลี้ยงหมูขุน 2,100 ตัว พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเขาใช้สำหรับเพาะเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไก่ชนมา 1 ปีแล้ว ใช้เวลาเลี้ยงจนไก่หนุ่มที่พร้อมเข้าสังเวียน สามารถขายได้เดือนละ 10 ตัว ทำรายได้เสริมเดือนละ 2.5-3 หมื่นบาท ด้านหลังฟาร์มเป็นบ่อบำบัดใช้ระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตแก๊สมาใช้ในการหุงต้ม และผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงเรือน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าจากการนำแก๊สที่ได้จากกระบวนการหมักในระบบมาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหากลิ่นที่อาจจะกระทบกับชุมชนได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับนโยบายกรีนฟาร์มของซีพีเอฟ ที่ผลักดันให้ฟาร์มหมูเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง "ผมเป็นสัตวบาลมาก่อนจึงทราบดีว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตนั้น นอกจากจะช่วยให้การเลี้ยงหมูมีพัฒนาการที่ดีนำไปสู่ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดภาระงานให้คนงาน ทำให้มีเวลาในการเอาใจใส่ดูแลด้วย" นพฉัตร เล่าถึงเหตุที่ผันชีวิตหันมาเป็นเกษตรกรด้วยการเลี้ยงหมูในระบบคอนแทร็กฟาร์มกับซีพีเอฟ เขา บอกว่า การเลี้ยงสัตว์ ต้องดูแลในเรื่องของสุขภาพสัตว์ด้วย เพราะถ้าสัตว์สุขภาพดี ไม่ป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสำหรับการรักษา ฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตทั้งตัวหมู และสภาพแวดล้อม อย่างเช่นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มให้วิตามินเพื่อป้องกันสุขภาพหมูไว้ก่อน ส่วนหมูที่เริ่มมีอาการซึม มีไข้ หรือกินอาหารน้อยลง ก็รีบแยกออกมาดูแลเป็นพิเศษ การทำแบบนี้ทำให้ฟาร์มของเขาไม่มีการใช้ยา หมูที่ผลิตได้จึงปลอดภัย ที่สำคัญต้องยึดมั่นในกฎระเบียบและมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้การผลิตหมูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยในอาหารในระดับสูง ฉะนั้นเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบคอนแทร็กฟาร์มรายอื่นๆ ต้องเน้นในการบริหารจัดการที่ดี การเฝ้าระวังสุขภาพ และการสำรวจสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน สำหรับเทคโนโลยีการผลิตที่ นพฉัตร นำมาช่วยพัฒนาการเลี้ยงหมู ได้แก่ การใช้ระบบการให้อาหารอัตโนมัติเนื่องจากเดิมการให้อาหารจะใช้แรงงานคนเป็นผู้ให้ ทำให้แรงงานเกิดความเหนื่อยล้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หลังจากใช้เทคโนโลยีแล้ว พบว่าผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะไม่ต้องเสียแรงงานในการเตรียมอาหาร เพียงให้อาหารตรงเวลาและเดินดูความเรียบร้อย ทำให้เหลือเวลาที่จะดูแลสัตว์ได้มากขึ้น อีกทั้งอาหารก็ไม่ตกหล่นเสียหายอีกด้วย ที่สำคัญประสิทธิภาพการให้อาหารก็ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด การที่ นพฉัตร หันมาเป็นเกษตรกรในระบบคอนแทร็กฟาร์มเลี้ยงหมูในครั้งนี้ เขายืนยันว่า เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะวันนี้เขามีรายได้จากการเลี้ยงหมูรุ่นละประมาณ 1 ล้านบาท ในหนึ่งปีเลี้ยงหมูขุนได้ 2 รุ่น เท่ากับเราได้รายได้ถึง 2 ล้านบาท แม้ว่าวันนี้ยังต้องจ่ายเงินกู้ให้ธนาคาร แต่อีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อหมดภาระตรงนี้ เขามั่นใจว่าจะมีเงินคิดเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1.6 แสนบาท นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่พิสูจน์ได้ว่า การทำเกษตรระบบพันธสัญญา หากสองฝ่ายตรงไปตรงมา เกษตรกรที่มีวินัย หัวก้าวหน้า และมีความตั้งใจ ผลผลิตที่ได้มามีคุณภาพตามมาตรฐานตามความต้องการของตลาด จะสามารถทำรายได้เข้าครอบครัวได้เป็นอย่างดี ------------------------- รู้ไว้ 'เกษตรพันธสัญญา' เกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง เป็นการเกษตรที่มีข้อตกลงระหว่างบริษัทแปรรูป (ผู้ซื้อ) กับเกษตรกร (ผู้ผลิต) ในการผลิตและส่งมอบสินค้าเกษตรภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี คุณภาพของผลผลิตและการรับซื้อ ระบบนี้หากมีการซื่อสัตย์ซึ่งกันและกันจะช่วยลดความเสี่ยงให้ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและบริษัทผู้ซื้อผลผลิต โดยทั้ง 2 ฝ่ายควรได้รับประโยชน์ คือ ลดปัญหาด้านเงินที่จะลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อของเกษตรกร ลดภาระความเสี่ยงด้านการตลาด เพราะบริษัทคู่สัญญาประกันราคาไว้แล้ว จึงไม่มีคำว่าขาดทุน ที่สำคัญเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ขณะที่ฝ่ายบริษัทผู้ซื้อก็จะลดความเสี่ยงด้านผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อโรงงานแปรรูป ปัญหาของระบบเกษตรพันธสัญญาที่พบในทางปฏิบัติ คือความไม่ซื่อตรงของกันและกัน บางบริษัทมีเทคโนโลยีที่ด้อยคุณภาพ การประเมินคุณภาพที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ลักษณะของเกษตรกรบางราย เช่น ขาดความขยันขันแข็ง และไม่ตั้งใจในการดูแลฟาร์ม ส่งผลให้บริษัทคู่สัญญาไม่รับซื้อในราคาที่ประกัน ดังนั้นระบบเกษตรพันธสัญญา มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ฉะนั้นเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการเกษตรพันธสัญญาไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด โดยเฉพาะเงื่อนไขในสัญญา ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมโครงการ โดยคู่สัญญาที่ผ่านนายหน้า ที่มักจะพบปัญหามากที่สุดทั้งที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรควรทำสัญญากับบริษัทโดยตรง หรือนายตัวแทนบริษัท และต้องเลือกบริษัทด้วยว่า มีความน่าเชื่อถือได้ขนาดไหน |
BuddyJob.com © Copyright 2004-2024 All right reserved. | ข้อตกลงการใช้บริการ | |