จากนักวิชาการเกษตร มาเป็นหนุ่มเลี้ยงกบจากอดีตที่เคยทำงานบริษัทดูแลฟาร์มเลี้ยงกุ้งให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของฟาร์มกบที่ผลิตและนำออกขายให้ตลาดในท้องถิ่น สามารถ สร้างรายได้ให้กับหนุ่มคนนี้จนอยู่ได้ทุกวันนี้ คุณยิ่งกมลได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า เค้าเคยทำงานในบริษัทและก็ลาออกมาทำฟาร์มกบขายตลาดท้องถิ่นโดยไม่ส่งให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ หรือที่เรียกว่าขายให้แพ เพราะได้กำไรสูงกว่าเป็นเท่าตัว เค้าเริ่มจากการลงทุนเลี้ยงกบจำนวน 6 บ่อ นำพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมด 25 คู่มาขยายพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ โชคดีที่กบเจริญเติบโตในบ่อที่เกิดไปตลอดอายุการจับจำหน่าย ไม่ต้องย้าย คัดกบได้ ไม่บอบช้ำ ทำให้เปอร์เซนต์การรอดตายของกบสูงกว่าการซื้อลูกกบมาจากที่อื่น ๆมาเลี้ยง และยังช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตอย่างมาก ปัจจุบันประสบความสำเร็จในอาชีพนี้มาโดยตลอดและขยายกิจการออกมาเป็น 25 บ่อ โดยทำการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ขนาด กว้าง 4×5 เมตร สูงประมาณ 1.20 เมตร เลี้ยงได้บ่อละ 5,000 ตัว สายพันธุ์ที่เลี้ยงคือกบนา จะมีความต้องการทางตลาดสูง และยังเลี้ยงง่าย ทนโรค โตเร็ว เลี้ยงเพียง 3 เดือนก็สามารถจับขายได้ ต่างจากบูลฟร็อกคือ 6 เดือนกว่าจะจับขายได้ การคัดเลือกพันธุ์กบ คุณยิ่งกมล ทำการคัดเลือกพันธุ์กบนาจากกบในบ่อและบางครั้งจะซื้อจากที่อื่นร่วมด้วย แม่พันธุ์ที่ได้ต้องมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียด้วยกันในรุ่นเดียวกัน ส่วนพ่อพันธุ์สังเกตุง่าย ๆคือ ต้องมีความพร้อมผสมพันธุ์ มีรอยย่นของถุงเสียง และสีเทาดำคล้ำใต้คางชัดเจนทั้งสองข้าง และที่บริเวณด้านในนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง จะพบแถบหนาสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นปุ่มหยาบ ปุ่มนี้ช่วยในการยึดเกาะบนผิวหนังที่บริเวณเอวของตัวเมียให้ดีขึ้น แต่ปุ่มนี้จะหายไปเมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ ส่วนกบนาเพศเมียบริเวณเอวจะมีลักษณะพองโต ท้องอูม ผิวหนังสดใส ด้านข้างลำตัวสาก การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ต้องไม่คัดเลือกมาจากบ่อเดียวกัน แต่ต้องสลับบ่อเพื่อป้องกันเลือดชิด ส่วนอายุที่เหมาะสมสำหรับเป็นแม่พันธุ์คือไม่ต่ำกว่า 1 ปี พ่อพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 8 เดือน ที่ฟาร์มจะใช้งานเพียงครั้งเดียวเพื่อประสิทธิภาพของผลผลิตที่ได้ เทคนิคการเลี้ยงกบในแต่ละช่วง สัดส่วนของการปล่อยกบพ่อแม่พันธุ์ขึ้นอยู่กับฤดูกาล หากเป็นช่วงฤดุร้อน ต้นฤดูฝน ขนาดบ่อกว้าง 5 เมตร ยาว 6 เมตร ปล่อยกบพ่อแม่พันธุ์เพียง 5 คู่ก็เพียงพอ หากเป็นช่วงฤดูหนาวควรปล่อยประมาณ 10 คู่ เนื่องจากไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ แต่ทางฟาร์มมีวิธีการสร้างสถานการณ์ด้วยการสร้างบรรยากาศภายในบ่อด้วยสปริงเกลอร์ทำฝนเทียมก่อนผสมพันธุ์ 1 ชั่วโมงหรือช่วงประมาณ 18.00-21.00 น. และระหว่างผสมอีก 2 ชั่วโมง หรือการใช้ไฟขนาด 60-100 วัตต์กกพ่อแม่พันธุ์ในท่อซีเมนต์ขนาด 1.20 เมตรประมาณ 3-7 วัน การจัดการแต่ละระยะเริ่มตั้งแต่ออกมาเป็นไข่ได้ 3 วัน เริ่มให้กินไข่แดงต้มสุกบด จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารผงโปรตีน 40% โดยปั้นเป็นก้อนให้กินประมาณ 3-4 วัน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารลอยหรืออาหารเบอร์สอง และเปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์หนึ่งในระยะสุดท้ายก่อนจับ วิธีให้อาหารวิธีนี้เป็นการลดต้นทุน และมีอัตราการรอดตายสูงกว่าฟาร์มอื่น ๆ แต่อาจไม่เหมือนกันกับฟาร์มอื่น ๆ เท่านั้นเอง การควบคุมโรค โรคส่วนใหญ่นั้นเกิดจากบ่อสกปรก อาหารสกปรก ทำให้เกิดโรคขึ้น เพราะหากสาเหตุเกิดจากอาหารที่สกปรกแล้ว จำเป็นต้องผสมยาออกซิเตทตราไซคลีน 3 กรัมต่ออาหารกบ 1 กิโลกรัม ให้กบกินทุกมื้อประมาณ 3-7 วัน ก็จะหายเป็นปกติ น้ำที่เลี้ยงต้องมีค่า ph 6.5-8.5 และเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ จำเป็นต้องคลุมหลังคายามฝนตกเป็นการป้องกัน เมื่อกบมีอายุได้ 1 เดือนต้องทำการถ่ายพยาธิโดยใส่ดีเกลือ 3 กรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ให้กินเพียง 1 มื้อ ทำเพียงเดือนละครั้งก็จะทำให้กบเจริญเติบโตได้ดี แต่สิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้กบเกิดโรคคือ ไม่เลี้ยงกบหนาแน่นเกินไป รักษาความสะอาดภายในบ่อให้ดี ให้อาหารที่กบชอบมีโปรตีนสูง และที่สำคัญคือต้องหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย ๆ ด้านการตลาด คุณยิ่งกมลกล่าวว่า ในอดีตเลี้ยงกบแต่ละรุ่นจับจำหน่ายแล้วแทบไม่เหลือกำไร เพราะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 25-27 บาทเท่านั้น แต่บางครั้งได้เปลี่ยนวิธีทำตลาดเป็นพื้นที่ใกล้เคียง หาลูกค้าที่เป็นกลุ่มแม่ค้า โรงแรม ร้านอาหาร ใกล้บ้านและจัดการทำกบด้วยการลอกหนัง ชำแหละให้เรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างกำไรได้อย่างงามเลยทีเดียว ซึ่งขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 80 บาทวันละ 5-10 กิโลกรัม ทำให้สามารถเลี้ยงครอบครัวอยู่ได้จนทุกวันนี้ |
BuddyJob.com © Copyright 2004-2024 All right reserved. | ข้อตกลงการใช้บริการ | |