เลี้ยง 'หมูหลุมอินทรีย์' ทำเงิน วิถีพอเพียง 'โชคชัย มัยราช'ไม่ใช่เรื่องง่ายการพกใบปริญญากลับบ้านสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการต่อต้านจากพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนที่ต้องการให้บุตรหลานได้มีงานทำในเมืองใหญ่ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของครอบครัวสมกับที่ได้ส่งเสียให้ร่ำเรียนจนประสบความสำเร็จ แต่หาก โชคชัย มัยราช หรือเจมส์ กลับเห็นต่าง ไม่ยอมรับในวิถีลูกจ้างแต่พยายามหาทางกลับบ้านเกิดเพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ตัวเอง ด้วยการเลี้ยง หมูหลุมอินทรีย์ และยังมีเวลาดูแลพ่อแม่ในวัยชราในฐานะลูกชายคนสุดท้อง ผมจบปริญญาตรีสาขาสัตวศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พอจบก็เป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาเกษตรที่สูงที่พะเยาจากนั้นก็ไปทำงานฟาร์มสุกร เอกชัยฟาร์มที่ราชบุรีอยู่ประมาณ 1 ปี จึงลาออกมาอยู่บ้านที่ จ.น่าน อยากจะดูแลพ่อแม่ พี่คนโตก็แต่งงานมีครอบครัว อีกคนก็ทำงานอยู่ต่างจังหวัด โชคชัยเผยจุดประกายความคิดอยากกลับมาอยู่บ้าน หลังใช้ชีวิตในฐานะลูกจ้างมาระยะหนึ่ง ก่อนที่มีแนวคิดเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์เพื่อจะได้มีอาชีพเสริมรายได้ นอกจากการปลูกข้าวโพด ทำสวนลำไย ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวในปัจจุบัน การเลี้ยงหมู แม้จะไม่ใช่อาชีพใหม่สำหรับคนเมืองน่านเพียงแต่เลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มที่เลี้ยงเพื่อรับประทานกันเองในหมู่บ้านในชุมชน ไม่ได้เลี้ยงในเชิงการค้า เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงมากนัก จากแนวคิดจึงสู่การปฏิบัติจริง เมื่อเขาไปลงมือเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ 1 คอก ขนาดกว้าง 4 ยาว 5 เมตร โดยใช้เลี้ยงลูกหมูขุนประมาณ 10 ตัว ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือนเศษ ก็สามารถจำหน่ายได้ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 90-100 กิโลกรัม/ตัว สนนในราคาตัวละ 5,500-6,500 บาท ซึ่งแต่ละตัวจะได้กำไรเฉลี่ย 1,500-2,200 บาท ข้อดีของเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์จะไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่น้อย ขนาดคอก 4X5 เมตร กับลูกหมู 10 ตัว ถือว่าพอดีรองพื้นด้วยซังข้าวโพด ราดด้วยอีเอ็ม ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนขี้หมูนั้นก็สามารถทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์นำไปขายเป็นรายได้อีกทอดหนึ่ง หรือใส่ต้นลำไยก็ได้ ของผมตอนนี้มีอยู่ 4 คอก วิธีการเลี้ยงจะสลับกัน ดังนั้นจะมีหมูขายทุกเดือนวนกันในแต่ละคอก ก็มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน โชคชัยเผยต่อว่า หลังจากเลี้ยงมาได้ระยะหนึ่งก็ได้รับการจากชักชวนจากนายสำรวจ ผัดผล ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นเครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่านให้มาทำหน้าที่ช่วยเผยแพร่การเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่แทนการปลูกข้าวโพด ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีและใช้ระยะเวลาคืนทุนไม่นานนัก ขณะเดียวกันมีตัวอย่างให้เห็นผลสำเร็จมาแล้ว การทำให้เกษตรเชื่อใจและมั่นใจว่าการเลี้ยงหมูหลุมเป็นทางเลือกน่าสนใจ ผมไม่เคยคิดว่าการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรนั่้นง่าย ดังนั้นเราจึงต้องลงมือทำ ต้องทำให้เห็นเสียก่อนว่าทำแล้วมีข้อดีอย่างไร มีความเสี่ยงตรงไหน มีอุปสรรคและทางแก้ไขอย่างไร เกษตรกรเขาไม่เชื่อเราหรอก ถ้าเราไม่ทำให้เห็นเสียก่อน ผมทราบว่ามันต้องใช้เวลา เพระาเขาทำของเขามานาน สำรวย ผัดผล ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้โจ้โก้มองการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้อยู่ในชุมชนบ้านเกิดได้ระหว่างเป็นวิทยากรเสวนาต้นกล้าชุมชนของมูลนิธิเอสซีจี ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีพื้นที่ให้แก่พวกเขา มีพื้นที่ปฏิบัติการให้พวกเขาได้ลงมือทำ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนผ่านงานที่พวกเขาได้ทำ สร้างคุณค่าให้แก่งานและตัวเอง ที่สำคัญต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ผมอยากเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี มีองค์ความรู้และในวันข้างหน้าอย่างเห็นต้นกล้าแข็งแรงและกำหนดวิถีชีวิตตัวเองได้ ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้โจ้โก้กล่าวย้ำ โชคชัย มัยราช นับเป็นอีกความสำเร็จของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้แก่วิถีลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการตัวเอง ด้วยการเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ที่สร้างอาชีพและรายได้อย่างเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตและยังมีความสุขที่ได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวอีกด้วย |
BuddyJob.com © Copyright 2004-2024 All right reserved. | ข้อตกลงการใช้บริการ | |